วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2551

อาชีพสถาปนิก

นางสาวอธัญญา พลขาง รหัสนิสิต 49010520238 คณะศึกษาศาสตร์ สาขา คณิตศาสตร์


ชื่ออาชีพ

สถาปนิก (Architect Building)

นิยามอาชีพ
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ทำหน้าที่ออกแบบอาคาร สิ่งก่อสร้าง และควบคุมการก่อสร้างร่วมกับวิศวกร คำนวณวัสดุ เวลา และราคาของค่าแบบก่อสร้างและการก่อสร้างที่เหมาะสมให้คำแนะนำในเรื่องวัสดุก่อสร้างที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ว่าจ้างและเป็นไปตามกฎข้อบังคับของท้องถิ่น และแบบลักษณะทางสถาปัตยกรรม

ลักษณะของอาชีพ (การทำงาน)
ออกแบบอาคารประเภทต่างๆให้สวยงาม และสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ กฎหมาย ประยุกต์ใช้ความรู้ ความสามารถ ทั้งทางศิลปะและเทคนิค โดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและประหยัด ทั้งในด้านราคาค่าก่อสร้างและพลังงานสนองความต้องการของผู้อาศัย และผู้ใช้อาคาร ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่โดยรวมดีขึ้น และไม่กระทบให้เป็นผลเสียของส่วนรวม สถาปนิกจะเป็นผู้ออกแบบต้องทำงานตามขั้นตอนและกำหนดเวลาชิ้นผลงานต่างๆ ร่วมกับวิศวกรก่อสร้างและนักเขียนแบบ โดยมีขั้นตอนการทำงานดังนี้



1. บันทึกรายละเอียด ความต้องการของลูกค้า เพื่อออกแบบให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า


2. ออกแบบ คำนวณแบบ เลือกวัสดุที่มีคุณภาพเหมาะสมและให้ประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า


3. คำนวณรายการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับเนื้องาน


4. เตรียมแบบ และส่งแบบที่วาดโดยช่างเขียนแบบให้ลูกค้าพิจารณา เพื่อ ดัดแปลงแก้ไขและตอบข้อซักถามของ ลูกค้าร่วมกับวิศวกร


5. เมื่อแก้ไขดัดแปลงให้สมบูรณ์แล้วจึงส่งแบบให้กับวิศวกรทำการก่อสร้าง


6. ออกปฏิบัติงานร่วมกับวิศวกรระหว่างทำการก่อสร้างเพื่อให้ใช้วัสดุและตามแบบที่วางไว้ตามเงื่อนไขสัญญา


7. ให้คำปรึกษาต่อวิศวกรและแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการก่อสร้างและการคำนวณของวิศวกร อาจวางแผนและควบคุมงานที่สถาปนิกจะได้รับทำเป็นประจำตลอดปีคือ งานปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไขตัวอาคารเพื่อความทันสมัยสวยงามและปลอดภัยอยู่เสมอ สถาปนิกอาจมีความชำนาญในอาคารบางชนิดเป็นพิเศษ เช่นการออกแบบการใช้อาคารในพื้นที่แคบ เป็นต้น หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับพื้นฐาน

ลักษณะของบุคคลที่เหมาะกับอาชีพ (ความต้องการด้านบุคลากร)




1. มีคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์



2. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ดี



3. มีการทำงานที่มีระบบ



4. ละเอียดรอบคอบต่องานที่ทำ เพราะเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัย



5. ใจกว้างยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นและมีมนุษยสัมพันธ์



6. คำนึงถึงงานสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพมากกว่าค่าตอบแทน และปรับปรุงความรู้ความสามารถอยู่ตลอดเวลา



7. เข้าใจในระบบเศรษฐกิจและการตลาด เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ



8. รักและเสียสละ เพื่อพัฒนาท้องที่ในต่างจังหวัด



9. ต้องมีรสนิยมทางศิลปะที่ดี และรู้จักพัฒนารสนิยมให้เป็นที่ยอมรับของสังคม



10. คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อเมือง และสภาพแวดล้อม รวมถึงสภาพสังคม วัฒนธรรมของท้องถิ่น



11. มีความสามารถในการรู้จักประยุกต์ใช้วัสดุ เพื่อประโยชน์ใช้สอยสูงสุด



12. มีทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมในการช่วยวาดรูปหรือออกแบบ



13. สุขภาพแข็งแรง สามารถไปทำงานต่างจังหวัดหรือต่างประเทศได้



14. มีความซื่อสัตย์








วิธีการเข้าสู่อาชีพ (การศึกษา, สาขาที่เกี่ยวข้อง, วิชา, วุฒิการศึกษา)


จบ ม.ปลายสายวิทยาศาสตร์ เข้าศึกษาต่อคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ใช้เวลาเรียน 5 ปี หรือจบระดับ ปวส. ทางด้านการเขียนแบบ แล้วฝึกงานในสำนักงานสถาปนิก หรือศึกษาต่อเพื่อให้ได้ปริญญาทางสถาปัตยกรรม สาขาวิชาสถาปัตย์-สถาปัตย์เป็นสาขาที่เรียนการออกแบบโครงสร้างอาคาร บ้านเรือนโดยตรง



ระดับรายได้ และความก้าวหน้า รวมไปถึงสวัสดิการที่เกี่ยวกับอาชีพ
สถาปนิกที่รับราชการจะได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา สถาปนิกที่ทำงานกับภาคเอกชนจะได้รับเงินเดือน ขั้นต้นอยู่ระหว่าง 15,000 -20,000 บาท ขึ้นอยู่กับฝีมือและประสบการณ์ในการฝึกงานขณะที่กำลังศึกษาอยู่ ได้รับสวัสดิการตามกฎหมายแรงงานกำหนดไว้ และสิทธิประโยชน์อื่น เช่น โบนัสขึ้นอยู่กับผลประกอบกาโอกาสก้าวหน้าในอาชีพผู้ปฏิบัติงานในภาครัฐบาลจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งและขั้นตามความสามารถ ถ้าได้รับการศึกษาต่อหรืออบรมหลักสูตรต่างๆเพิ่มเติมอาจได้เป็นผู้อำนวยการของหน่วยงานที่ตนเองสังกัดอยู่ใน ภาคเอกชนจะได้เป็นผู้จัดการหรือผู้ดูแลโครงการก่อสร้าง หรือเจ้าของผู้ประกอบการ







ความต้องการของตลาดแรงงาน
ปัจจุบันอาชีพนี้ซบเซาตามสภาพเศรษฐกิจ ทำให้อุตสาหกรรมวงการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบมาก การดำเนินการลงทุนและการก่อสร้างได้มีการหยุดชะงักชั่วคราว แต่ผู้ประกอบอาชีพนี้ได้ รวมตัวปรับตนเองเป็นผู้รับทำการซ่อมแซม ปรับปรุง ดัดแปลงอาคารและบ้านเรือน ให้ทันสมัยและ ปลอดภัย อยู่เสมอขณะนี้ บุคลากรในอาชีพนี้ยังสามารถสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ที่นิยมทำในปัจจุบัน คือ จัดทำแบบจำลองหรือโมเด็ลเป็นรูปอาคารต่างๆ ทั้งในประเทศและทั่วโลกให้ลูกค้าเนื่องใน โอกาสต่างๆ ถ้ามีความริเริ่มสร้างสรรค์ในการออกแบบสินค้าเฉพาะและนำส่งออกนอกประเทศจะเป็นช่องทางที่ดีช่องทางหนึ่ง ในการขยายหรือผลิตสินค้าใหม่ ปัจจุบันสถาปนิกไทยมีโอกาสเดินทางไปทำงานในต่างประเทศมากขึ้น



สภาพการทำงาน


กำหนดระยะเวลาทำงานขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของอาคาร สิ่งก่อสร้างตามที่ผู้จ้างต้องการ ต้องทำงานให้เสร็จทันเวลาเพราะมีโทษปรับถ้าการก่อสร้างเสร็จไม่ทันตามกำหนดเวลา ต้องทำงานทั้งใน สำนักงาน การออกพื้นที่จริงทั้งก่อนก่อสร้างและขณะกำลังก่อสร้าง การทำงานอาจทำเป็นช่วงในตลอด 24 ชั่วโมง เมื่องานการก่อสร้างต้องเร่งระยะการทำงานอาจยาวนานแล้วแต่ขนาดของอาคาร เป็นอาชีพที่ไม่มีผลัดการทำงานเพราะสถาปนิกผู้ออกแบบนั้นจะต้องทำหน้าที่รับผิดชอบร่วมกับวิศวกรผู้ทำงานร่วมกัน



มหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาที่เปิดสอน
สาขานี้เปิดสอนที่ มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ




อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ หรืออุปกรณ์ ต่างๆ นักออกแบบกราฟฟิค อาชีพอิสระในการทำธุรกิจซื้ออุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์สร้างบ้านและตกแต่งบ้าน
ตัวอย่างบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับอาชีพสถาปนิก
หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี (เกษมศรี) (
19 ธันวาคม 2476 - ) ศาสตราจารย์กิตติคุณ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สถาปนิกดีเด่น ผู้บุกเบิกงานวิจัยสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ ผู้ร่วมก่อตั้งสาขาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี ได้รับพระราชทานปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จาก
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2499 และได้รับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ในปี พ.ศ. 2504 ศาสตราจารย์ กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี เข้ารับราชการตำแหน่งอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2500 จนเกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. 2537
การศึกษาและผลงาน
ขณะศึกษาอยู่ที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ เคยได้รับเลือกเป็นนายกชุมนุมนิสิตหญิงคณะ ทำงานร่วมกับนายกชุมนุมนิสิตหญิงของมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี เป็นบุคคลสำคัญผู้หนึ่งที่ทำให้การศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก่อรูปร่างมั่นคงตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ และได้ปลูกฝังให้ลูกศิษย์ตระหนักถึงความสำคัญและการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีผลงานการค้นคว้าวิจัยเป็นที่ปรากฏยกย่องในวงวิชาการมากมาย เช่น การศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาด้วยข้อมูลเอกสารเบื้องต้น เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทยในกรุงรัตนโกสินทร์ (
ร. 3ร. 5) แกนนำในการขยายตัวของกรุงเทพมหานครในอดีต วิวัฒนาการทางสถาปัตยกรรมในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2325 – 2453 เป็นต้น
ศาสตราจารย์กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี ได้รับการยกย่องให้เป็น
สถาปนิกดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2537 โดย สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2538 เป็นปูชนียบุคคลด้านสถาปัตยกรรมไทยประจำพุทธศักราช 2538 โดยคณะกรรมการอำนวยการวันมรดกไทย และได้รับพระราชทานปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2541